ประเพณีกินผัก เป็นประเพณีที่ชาวบ้านในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า ‘เจี๊ยะฉ่าย’ มาจากลัทธิเต๋า ซึ่งนับถือบูชาเทพเจ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่คนจีนนับถือกันมาอย่างช้านาน วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ตามปฏิทินจีนของทุกๆปี
‘เจี๊ยะฉ่าย’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
‘เจี๊ยะฉ่าย’ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ หมู่บ้านไล่ ซึ่งอยู่ในตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ณ ปัจจุบัน ชาวจีนเหล่านั้นได้อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชาวจีนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีแร่ดีบุกหนาแน่นจนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก
และคนจีนในสมัยนั้น มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าประจำตระกูล เช่น เทพยดาฟ้าดิน หรือเซียนต่างๆ เมื่อเกิดเหตุเภทภัยอันใดขึ้นจึงได้มีการอัญเชิญเทพเจ้าให้มาคุ้มครองปกป้อง และความเชื่อนี้ก็ยังคงยืนหนักมาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมาได้มีคณะงิ้ว เดินทางมาจากประเทศจีนมาเปิดแสดง ณ บ้านในทู โดยคณะงิ้วนี้ได้แสดงอยู่ตลอดทั้งปี เพราะเศรษฐกิจของชาวในทู มีรายได้ดีมาก หลังจากคณะงิ้วได้เปิดทำการแสดงในระยะหนึ่ง ได้เกิดมีการเจ็บป่วย ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนยังไม่ได้ประกอบพิธีกินผัก ที่พวกเขาเคยปฏิบัติกันมาทุกปี ณ ประเทศจีน จึงได้ตกลงกันประกอบพิธีขึ้น ณ โรงงิ้วนั้นเอง ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายก็มลายหายไปหมดสิ้น เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวในทูมาก จึงได้มีการสอบถามว่าต้องทำอย่างไร และก็ปฏิบัติตามกันมา หลังจากชาวจีนในทูได้ประกอบพิธีกินผักได้ประมาณ 2-3 ปี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็หายไปหมดเกลี้ยงในที่สุด ทำให้ชาวจีนมีความเชื่อมากยิ่งขึ้น
ก่อนที่คณะงิ้วจะย้ายไปทำเปิดแสดงที่อื่น ได้มอบรูปพระกิ้มซิ้น , เล่าเอี๋ย ,ส่ามอ๋องฮู่อ๋องเอี๋ย, ส่ามไถ้จือ รวมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่ชาวจีนในการพิธีกรรมแบบๆย่อๆ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติตามกันสืบต่อไป
ณ ปัจจุบันประเพณีกินผัก ของชาวบ้านแห่งจังหวัดภูเก็ต ได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันต่อมาทุกๆ ปี มาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว จึงถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวภูเก็ต ที่ไม่แต่เพียงดึงดูดให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสนใจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นของประเทศ รวมทั้งนักเดินทาง , สำนักข่าว จากต่างประเทศเข้ามาทำข่าว เข้ามาศึกษา และเข้ามาใกล้ชิด เพราะอยากรู้ว่างานนี้มีความน่าสนใจมากเพียงไร รวมทั้งยังทำให้ลูกหลานได้สืบต่อประเพณีอันดีงามนี้ต่อไปด้วย